เพชร กับ พลอย ต่างกันอย่างไร เคยสงสัยกันไหมครับ?

เพชร กับ พลอย ต่างกันอย่างไร เคยสงสัยกันไหมครับ?

บทความที่แล้ว ผมได้นำเสนอ เรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับอัญมณีที่คุณจำเป็นต้องรู้ ไปแล้ว มาบทความนี้ ตามสัญญาครับ ว่าเนื้อหาโลกของอัญมณีจะเข้มข้นขึ้น เพราะผมเชื่อว่าทุกคนต้องรู้จัก เพชร กับ พลอย กันดีอยู่แล้ว แต่เคยสงสัยกันมั้ยครับว่า เพชรกับพลอย ต่างกันยังไง

แบบไหนที่เราเรียกว่าเพชร แบบไหนที่เราเรียกว่าพลอย ถ้าใสๆไม่มีสี มีประกายสวยๆ ระยิบระยับ เรียกเพชร ถ้ามีสีสันคัลเลอร์ฟูล เรียกพลอย จะใช่หรือไม่ วันนี้เรามาค้นหาคำตอบด้วยกันครับ

ความแข็งของ เพชร พลอย

รู้จักกับ ความแข็ง ของอัญมณี

หากจะบอกความแตกต่างกันจริงๆ ก็มีประเด็นให้พูดถึง และอธิบายเยอะมากเลยครับ ทั้งสูตรเคมีที่เป็นองค์ประกอบของโครงสร้าง หรือคุณสมบัติอื่นๆ

แต่วันนี้ ผมจะมาแยกเพชร และพลอยออกจากกันเป็นกลุ่มๆ ให้เข้าใจง่ายที่สุด และเห็นภาพมากที่สุดด้วยคุณสมบัติ “ความแข็ง” ครับ

ความแข็งของ เพชร พลอย

“ฟรีดรีช โมห์” เป็นนักธรณีวิทยาท่านแรก ที่ได้ทำการจัดลำดับความแข็งของวัตถุชนิดต่างๆ โดยนำเอาแร่บางชนิด มาเป็นตัวแทนจัดลำดับค่าความแข็งโดยเริ่มตั้งแต่ ลำดับที่ 1 คือ อ่อนที่สุด ไปจนถึงลำดับที่ 10 คือลำดับที่แข็งที่สุด ไม่ใช่แข็งที่สุดเฉพาะในแร่เท่านั้น แต่แข็งที่สุด ในบรรดาสิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นทั้งหมด

ข้อสังเกตุคือ ความแข็ง เป็นความทนทานต่อการ “ขูดขีด” ซึ่งไม่ได้สัมพันธ์กับการแตกหักแต่อย่างใด วัตถุแข็งลำดับ 6 จะไม่สามารถขูดวัตถุที่แข็งลำดับ 7 ให้เป็นรอยได้ ซึ่งนั้นหมายความว่า จะไม่มีวัตถุไหนที่สามารถขูดวัตถุที่แข็งลำดับ 10 ที่เป็นระดับความแข็งสูงสุดให้เป็นรอยได้ นอกจากตัวมันเองที่แข็งลำดับ 10 เท่ากันครับ

แต่เมื่อวัตถุที่แข็งที่สุดตกลงพื้น ก็สามารถแตกได้ครับเพราะการแตกหัก ไม่ได้สัมพันธ์กับ ความแข็ง แต่สัมพันธ์กับ “ความเหนียว” ครับผม พอมองเห็นภาพมั้ยครับ ซึ่งอัญมณีที่เหนียวที่สุด คืออะไร ใครรู้บ้างครับ . .
.
.
.
.
.
.
.
.
อัญมณีที่เหนียวที่สุด คือ หยก นั้นเองครับ สังเกตุง่ายๆ จากการที่เราเห็นว่าหยก เป็นอัญมณีที่นิยมแกะสลักมากที่สุด เนื่องจากมีเนื้อที่เหนียว เวลาแกะสลักแล้วเนื้อไม่แตกหัก สามารถลงรายละเอียดได้ลึกและสวยงามนั้นเองครับผม

เพชร แข็งระดับใด

มาลองทายกันดูครับ ว่า “เพชร” อัญมณีที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด และแพงที่สุด จะมีคุณสมบัติด้านความแข็งเป็นอย่างไร จะดีที่สุด เหมาะสมกับชื่อเสียงหรือไม่ ? เก็บคำตอบไว้ในใจ แล้วมาค้นหาคำตอบไปพร้อมกันได้เลยครับผม

ความแข็งของแร่ อันดับ 1-3

ก่อนจะเริ่มต้นทำความรู้จักกับแร่ ในแต่ละลำดับ ผมต้องบอกก่อนครับว่า ค่าตัวเลขในแต่ละลำดับนั้น เป็นค่าที่เปรียบเทียบกันเท่านั้น ไม่ใช่ค่าหน่วยความแข็ง เพราะช่วงความแตกต่างของความแข็ง ในแต่ละช่วงจะไม่เท่ากัน เช่น ลำดับที่ 9 แข็งกว่าลำดับที่ 8 ถึง 2 เท่า แต่ลำดับที่ 10 แข็งกว่าลำดับที่ 9 ถึง 4 เท่า เป็นต้นครับ

มาครับ เรามาเริ่มรู้จักแร่ ที่ความแข็งลำดับที่ 1-3 กันครับ

เพชร พลอย ที่แข็งระดับ 1-3

ลำดับที่ 1 – Talc (ทัลก์)

แร่ทัลก์ เป็นแร่ที่มีความอ่อนมาก เราสามารถใช้เล็บของเราขูดแร่ทัลก์ ออกมาเป็นผงได้ (เล็บแข็งลำดับที่ 2.5) จึงนิยมใช้ในงานอุตสาหกรรมต่างๆ อุตสาหกรรมที่เราคุ้นเคยที่สุด ผมเชื่อว่าทุกคนต้องเคยใช้แน่ๆ นั้นคือ แป้งฝุ่น นั้นเองครับ วันนี้กลับบ้านไป ลองพลิกกระป๋องแป้งตัวเองดูนะครับ ลองกวาดตามองดูส่วนประกอบ ว่าจะมี “Talc” หรือไม่ หาเจอแล้ว มาบอกผมด้วยนะครับ ว่าแป้งยี่ห้ออะไร อิอิ

ลำดับที่ 2 – Gypsum (ยิปซัม)

แร่ยิปซัม เป็นแร่ที่แข็งกว่าแร่ทัลก์ แต่ก็ยังอ่อนกว่าเล็บมือเรา นั่นหมายความว่า เราสามารถใช้เล็บขูดแร่ ยิปซัมให้เป็นรอยได้ ประโยชน์ของยิปซัมในทางอุตสาหกรรม คือทำปูนปลาสเตอร์ ปูนซีเมนต์ ใช้ทำปุ๋ย รวมไปถึงใช้ทำชอล์คเขียนกระดานครับ

ลำดับที่ 3 – Calcite (แคลไซต์)

แร่แคลไซต์ อยู่ในตระกูลคาร์บอเนต มีลักษณะพิเศษคือ เวลาโดนกรดเกลือแล้ว จะเกิดฟองฟู่ ทำให้เกิดความเสียหายได้ง่าย จึงไม่นิยมใช้ทำเป็นอัญมณี สำหรับประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม คือ เป็นวัตถุดิบผลิตแสงเลเซอร์นั้นเองครับ

ความแข็งของแร่ อันดับ 4-6

เนื่องจากแร่ที่แข็งลำดับ 1-3 มีความแข็งที่ต่ำ เสียหายได้ง่าย จึงไม่นิยมนำมาใช้เป็นอัญมณี แต่มักจะนำไปใช้ในทางอุตสาหกรรมมากกว่า อัญมณีที่ได้รับความนิยม จึงมักจะเริ่มจาก แร่ที่แข็งลำดับที่ 4 เป็นต้นไปครับ

เพชร พลอย ที่แข็งระดับ 4-6

ลำดับที่ 4 – Fluorite (ฟลูออไรต์)

เป็นแร่ที่พบได้บ่อย ในปริมาณมาก ถึงแม้ว่าจะมีความแข็งเพียงแค่ 4 ขูดขีดเป็นรอยได้ง่าย นอกจากนี้ยังเปราะ แตกหักได้ง่ายอีกด้วย แต่การที่ฟลูออไรต์มีหลากหลายสีตั้งแต่ สีเหลือง น้ำเงินชมพู ม่วง เขียว น้ำตาล จนถึงใส ไม่มีสี และรูปผลึกที่สวยงาม จึงถูกมองข้ามเรื่องความแข็ง และนิยมนำมาใช้เป็นอัญมณี

ลำดับที่ 5 – Apatite (อะพาไทต์)

อะพาไทต์ เป็นแร่ที่มากในหินหลายชนิด มีหลายสี ตั้งแต่ สีเหลือง เขียว ฟ้า น้ำตาล ชมพู ม่วง และขาวใส บางครั้งพบชนิดตาแมว (Cat’s eye) แต่ที่มีคุณภาพและจัดให้เป็นอัญมณี กลับพบน้อยมาก จึงนิยมเป็นบางกลุ่ม ไม่แพร่หลาย

ลำดับที่ 6 – Orthoclase

ออร์โทเคลส เป็นอัญมณีในแร่กลุ่มใหญ่เฟลด์สปาร์ (Feldspar) เนื่องจากเป็นแร่กลุ่มใหญ่มาก จึงมีอัญมณีหลายชนิด ที่เป็นที่รู้จัก เช่น มุกดาหาร (Moonstone) และ หินพระอาทิตย์ (Sunstone) ส่วนตัวผมแล้ว Moonstone เป็นอัญมณีที่ผมชอบมาก เนื้อขาว แสดงสีเหลือบฟ้าทุกครั้งเวลาขยับ น่าค้นหา น่าหลงใหล มีเสน่ห์ดึงดูดจริงๆครับ

ความแข็งของแร่ อันดับ 7

เพชร พลอย ที่แข็งระดับ 7

ลำดับที่ 7 – Quartz (ควอตซ์)

ควอตซ์ เป็นแร่ที่มีความหลากหลายในแง่การเกิด และจำนวนชนิดมากที่สุด พบมากที่สุด ทำให้ราคาไม่สูงมากนัก ด้วยความแข็งระดับ 7 นี้ ถือว่าแข็งมาก ใบมีดคัตเตอร์ ไม่สามารถทำให้ควอตซ์เป็นรอยได้ ในทางกลับกัน ควอตซ์สามารถทำให้ใบมีดคัตเตอร์ แก้ว หรือแม้แต่แผ่นเหล็ก เป็นรอยได้ครับ

ควอตซ์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทผลึกหยาบ และผลึกละเอียด ครับ

ประเภทผลึกหยาบ ที่คุ้นเคย ได้แก่

1. Amethyst – แอเมทิสต์ ชนิดสีม่วง
2. Citrine – ซิทริน ชนิดสีเหลือง
3. Rose Quartz – โรสควอตซ์ ชนิดสีชมพู
4. Smoky Quartz – สโมคกี้ควอตซ์ ชนิดสีควันไฟ
5. Tiger’s eye – ควอตซ์ตาเสือ – ชนิดสีน้ำตาลทอง

ประเภทผลึกละเอียด ที่น่าจะรู้จัก ได้แก่

1. Chalcedony – คาลซิโดนี เนื้อนวล โทนฟ้า-เขียว
2. Agate – อะเกต เนื้อสลับกันเป็นชั้นๆ เป็นสีต่างๆ
3. Onyx – โอนิกซ์ มีสีดำเงา บางครั้งเรียกว่า นิล

ความแข็งของแร่ อันดับ 8

เพชร พลอย ที่แข็งระดับ 8

ลำดับที่ 8 – Topaz (โทแพซ)

หรือหลายท่านอาจรู้จักในชื่อ โทปาส เป็นอัญมณีที่มีสีหลากหลาย “สีขาวใส สีเหลือง สีเขียว สีชมพู สีส้ม” โดยสีที่มีราคาแพงที่สุด คือสีส้มอมแดง (Imperial Topaz) แต่สีที่นิยมและพบมากที่สุด กลับเป็นสีฟ้าในโทนต่างๆ ตั้งแต่สีฟ้าอ่อน สีฟ้าสด ไปจนสีฟ้ามืด ซึ่งเกิดจากการฉายรังสี ด้วยรังสีต่างๆครับ ควอตซ์ที่ว่าแข็งแล้ว เจอโทแพซเข้าไป แข็งกว่าควอตซ์ ถึง 2 เท่าเลยครับ แข็งมากจริงๆ

โทแพซสีฟ้าในโทนต่างๆ ที่พบได้บ่อยๆในตลาดพลอย มีชื่อเรียกเฉพาะตามสี ดังนี้

●  สีฟ้าอ่อน – สกายบลู โทแพซ (Sky blue topaz)
●  สีฟ้าสด – สวิซบลู โทแพซ (Swiss blue topaz)
●  สีฟ้ามืด – ลอนดอนบลู โทแพซ (London blue topaz)

ความแข็งของแร่ อันดับ 9

เพชร พลอย ที่แข็งระดับ 9

ลำดับที่ 9 – Corundum (คอรันดัม)

แร่คอรันดัม ชนิดธรรมดา ที่ไม่มีคุณสมบัติเป็นอัญมณี เป็นแร่ที่พบในปริมาณมาก และด้วยคุณสมบัติความแข็ง ที่แข็งกว่าลำดับที่ 8 ถึง 2 เท่า จึงนิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมผงขัด

ส่วนชนิดที่มีคุณสมบัติเป็นอัญมณีได้ ถูกจัดให้เป็นอัญมณีที่มีความสำคัญมาก รองจากเพชร ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

●  Ruby (ทิบทิม) – คอรันดัมชนิดสีแดงเท่านั้น
●  Sapphire (แซปไฟร์) – คอรันดัมสีอื่นๆทั้งหมดที่ไม่ใช่สีแดง และเวลาเรียก จะมีชื่อสีนำหน้า เช่น

1. Blue Sapphire (ไพลิน) – คอรันดัมสีน้ำเงิน
2. Yellow Sapphire (บุษราคัม) – คอรันดัมสีเหลือง
3. Green Sapphire (เขียวส่อง) – คอรันดัมสีเขียวอมน้ำเงิน

นอกจากนี้ ยังมี Pink Sapphire, Orange Sapphire, Purple Sapphire, Yellowish green sapphire, Star Sapphire รวมถึง Color-Changed Sapphire

โดยแซปไฟร์สีที่ราคาแพงที่สุด คือ แซปไฟร์ชนิด Padparadscha (แพดพารัชชา) ซึ่งมีสีชมพูอมส้ม สวยงามมาก จนคนไทยเรียกกันว่า “เพชรพระราชา”

ความแข็งของแร่ อันดับ 10

เพชร พลอย ที่แข็งระดับ 10

ลำดับที่ 10 – Diamond (เพชร)

มีใครตอบถูกกันบ้างครับ ว่าเพชรแข็งลำดับ 10 ถ้าถูกนี่เก่งมากเลยครับ ตามที่ทุกคนเคยได้ยินมา ว่าเพชร เป็นวัตถุที่แข็งที่สุดในโลก ปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ถ้าเทียบกับสิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมาด้วยตัวของธรรมชาติเอง เพชรยังคงเป็นที่หนึ่ง แม้แต่คอรันดัมที่แข็งลำดับที่ 9 ก็ยังแข็งน้อยกว่าเพชรถึง 4 เท่าเลยครับ แต่ปัจจุบันมนุษย์สามารถสังเคราะห์สิ่งที่แข็งกว่าเพชรได้แล้วเช่นกัน แต่อะไรจะน่าภูมิใจ ไปกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเนอะครับ

เพชร จึงถือเป็นอัญมณีที่สำคัญที่สุด มีคุณค่าและราคาสูงกว่าอัญมณีชนิดอื่น นอกจากความแข็งที่สูงที่สุดแล้ว ยังมีค่าดัชนีหักเหและการกระจายแสงที่สูงมาก จึงมีประกายแวววาว ระยิบระยับ เล่นไฟดีกว่าอัญมณีชนิดอื่นๆ คุณสมบัติพร้อมขนาดนี้ ก็ต้องยกที่หนึ่งให้เค้าล่ะครับ

ด้วยความเป็นที่หนึ่ง และเพียงหนึ่งเดียว “เพชร” จึงได้รับความนิยมใช้เป็น แหวนแต่งงาน เพื่อแสดงถึงสัญลักษณ์ของรักเดียวใจเดียว เพื่อเธอคนเดียว และมั่นคงที่เธอคนเดียวตลอดไปนั้นเองครับ

ที่สำคัญ เพชรไม่ได้มีเฉพาะสีขาวใสนะครับ เพชรยังมีสีอื่นๆ ที่เราเรียกกันว่า เพชรแฟนซี (Fancy Color) ได้แก่ สีชมพู แดง ส้ม เขียว ฟ้า น้ำตาล และเหลืองเข้ม ครับผม

ตอนนี้เราก็ได้รู้จักการจัดลำดับแร่ตามค่าความแข็งของโมห์ไปแล้ว (Moh’s scale of hardness) ทีนี้มาถึงสาระสำคัญของเรากันแล้วครับ ว่าแล้ว ก็ลุยกันเลยครับ

แล้ว เพชร กับ พลอย ต่างกันอย่างไร

เพชร กับ พลอย ต่างกันอย่างไร

แร่ที่เป็นอัญมณี จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ “เพชร และ พลอย”

เพชร – คือ แร่ที่แข็งลำดับที่ 10 เท่านั้น

ซึ่งก็มีเฉพาะ “เพชร” เท่านั้น เพชรจึงเป็นเพชร เอ้ งง กันไหมครับ แบบนี้ดีกว่าครับ เพชร ก็คือแร่ที่แข็งลำดับที่ 10 ซึ่งแร่ที่แข็งลำดับที่ 10 นี้ ก็มีเพียงแค่เพชรเท่านั้น

พลอย – คือ แร่ที่แข็งตั้งแต่ลำดับที่ 9 ลงมาครับ

ซึ่งมีมากมายหลายชนิด แร่ทุกชนิดที่มีคุณสมบัติเป็นอัญมณีได้ ยกเว้นเพชร จะเรียกว่าพลอยแทบทั้งสิ้นครับ

พลอยเนื้อแข็ง VS พลอยเนื้ออ่อน

พลอยเนื้อแข็ง

เนื่องจากเพชร มีเพียง “หนึ่ง” ชนิด แต่พลอย กลับมีมากมายหลาย “ร้อย” ชนิด จึงต้องมีการจัดแบ่ง ประเภทพลอยกันสักหน่อย โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทครับ

ประเภทแรก – พลอยเนื้อแข็ง

เปรียบเสมือน เป็นราชาของพลอยทั้งปวง ดังนั้นคำว่า “พลอยเนื้อแข็ง” จึงยกให้แร่ที่มีความแข็งอยู่ในลำดับที่ 9 เท่านั้น ซึ่งมีเพียงแร่ชนิดเดียว ที่อยู่ในลำดับนี้ ได้แก่ แร่คอรันดัม ครับ

แร่คอรันดัม ชนิดที่เป็นอัญมณีมีหลากหลายสี ตามที่ผมได้กล่าวมาแล้ว ด้วยความพิเศษที่ถูกจัดให้เป็นพลอยเนื้อแข็งแต่เพียงผู้เดียว ทำให้อัญมณีในแร่คอรันดัม เป็นเหมือนจุดสูงสุดของพลอยแต่ละสีเลยครับ เช่น

นึกถึงพลอยสีแดง – แน่นอนครับว่าทับทิม เป็นอัญมณีชนิดแรกที่คุณนึกถึง
นึกถึงพลอยสีน้ำเงิน – ไพลินก็ต้องมาเป็นอันดับแรก
นึกถึงพลอยสีเหลือง – บุษราคัมก็มาเป็นอันดับแรกเช่นกัน

ดังนั้นพลอยเนื้อแข็ง จึงมีราคาสูงมาก ยิ่งสวยก็ยิ่งแพง แต่การมีเก็บไว้อย่างน้อยสักหนึ่งเม็ด จะไม่ทำให้คุณเสียใจเลยครับ เมื่อเทียบกับคุณค่าที่คุณยอมจ่าย

พลอยเนื้ออ่อน

ประเภทที่สอง – พลอยเนื้ออ่อน

คือ พลอยที่มีความแข็งต่ำกว่าลำดับ 9 ทั้งหมด และแต่ละลำดับ จะไม่ได้มีแค่แร่ชนิดเดียวอีกต่อไป เช่น ลำดับที่ 8 นอกจากโทแพซแล้ว ยังมีสปิเนลด้วย

ดังนั้นพลอยเนื้ออ่อน จึงหมายรวมถึงแร่ทั้งหมด ที่มีคุณสมบัติเป็นอัญมณีได้ ยกเว้นแร่เพชร และแร่คอรันดัมเท่านั้น ตรงนี้พอเข้าใจกันบ้างแล้วเนอะครับ

ทีนี้ คำว่า “พลอยเนื้ออ่อน” ไม่ได้หมายถึง เนื้อพลอยที่อ่อนจนไม่มีค่านะครับ เป็นเพียงคำที่ใช้เรียก เพื่อแบ่งประเภทพลอยเท่านั้น อย่างที่ผมเคยบอก แร่ควอตซ์ที่แข็งลำดับ 7 สามารถขูดแก้ว หรือแผ่นเหล็กเป็นรอยได้ นั้นหมายความว่า แร่ควอตซ์ที่เป็นพลอยเนื้ออ่อน ต้องแข็งอย่างมากเลยล่ะครับ

พลอยเนื้ออ่อน มรกต

ผมมีคำถามครับ ใครรู้จักมรกตบ้างเอ่ยยย ?

มรกต (Emerald) เป็นอัญมณีในแร่เบริล (Beryl) มีความแข็งอยู่ระหว่าง 7.5-8 คำถามของผมคือ มรกต เป็นพลอยเนื้อแข็ง หรือพลอยเนื้ออ่อนครับ? ตอบคำถามในใจ แล้วเลื่อนไปดูเฉลยพร้อมๆกันเลยครับ
.
.
.
.
.
.
.
.
เฉลย : มรกต เป็นพลอยเนื้ออ่อน นะครับ ใครตอบถูกบ้างเอ่ยยย

ผมเชื่อว่าทุกคนรู้จักมรกต ทุกคนให้คุณค่ากับมรกตมาก วันหนึ่ง หากคุณรู้ว่ามรกตเป็นพลอยเนื้ออ่อน คุณยังจะรักมรกตเหมือนเดิมอยู่ไหมครับ ผมกำลังจะบอกว่า อย่าประเมินคำว่า “พลอยเนื้ออ่อน” ต่ำไปเนอะครับ พลอยทุกชนิดย่อมมีคุณค่าในตัวเองเสมอ

ความแข็งกับเรื่องที่ถูกเข้าใจผิด

เพชร แตกได้

สุดท้ายก่อนจะจบ ผมขอย้ำอีกรอบนะครับ ว่า

ความแข็ง (Hardness) เป็นความทนทานต่อการ “ขูดขีด” ซึ่งไม่ได้สัมพันธ์กับการแตกหักแต่อย่างใด วัตถุแข็งลำดับ 8 จะไม่สามารถขูดวัตถุที่แข็งลำดับ 9 ให้เป็นรอยได้ ซึ่งนั้นหมายความว่า จะไม่มีวัตถุไหนที่สามารถขูดวัตถุที่แข็งลำดับ 10 ให้เป็นรอยได้ นอกจากตัวมันเองที่แข็งลำดับ 10 เท่ากันครับ

แต่เมื่อวัตถุที่แข็งที่สุดตกลงพื้น ก็สามารถแตกได้ครับ เพราะการแตกหัก ไม่ได้สัมพันธ์กับความแข็ง แต่สัมพันธ์กับ “ความเหนียว” โดยเฉพาะเลยครับผม

บทสรุป

สำหรับท่านใด ที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ คงมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น และแยกแยะได้ว่า เพชร กับ พลอย ต่างกันยังไงในมิติของความแข็ง บทความนี้อาจจะเป็นความรู้ใหม่ หรืออาจจะเคยทราบมาก่อนแล้ว ก็ถือว่าทบทวนเนอะครับ

หากท่านสนใจอยากจะติดตามเรื่องราวดีๆเหล่านี้ หรือเห็นว่า Content นี้มีประโยชน์ต่อท่านอื่นๆ ก็สามารถกดไลค์ กดแชร์ ได้เลยนะครับ ขอบคุณมากๆเลยครับผม

(แต่งและเรียบเรียงโดยคุณวิทวัส มะโนคำ นักอัญมณีวิทยา จบจาก มช. รุ่นที่ 50)

ผู้แต่งเรื่อง อัญมณี

สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถาม หรือขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Facebook : Tuaton Jewelry
Instagram : Tuaton Jewelry
Tel : 087-5452612

Related Posts
Leave a Reply

Your email address will not be published.Required fields are marked *