อัญมณี มีอะไรบ้าง กับหลายเรื่องพื้นฐานที่คุณยังไม่รู้

อัญมณี มีอะไรบ้าง กับหลายเรื่องพื้นฐานที่คุณยังไม่รู้

สำหรับใครหลายๆคน “อัญมณี” คือสิ่งที่มีคุณค่าและมูลค่ามาก แล้วความมีค่าของอัญมณี มีที่มามาจากไหน และสิ่งใดบ้างที่เราจัดให้เป็น อัญมณี ?

วันนี้ผมจะมาตอบข้อสงสัยในใจของหลายๆคน กับเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับอัญมณี ที่คุณจำเป็นต้องรู้ ก่อนเลือกซื้อเครื่องประดับอัญมณีแท้สักหนึ่งชิ้น มาครับ เรามาทำความรู้จักอัญมณีไปพร้อมๆกันเลย . . 

3 คุณสมบัติของอัญมณี

คุณสมบัติของ อัญมณี

สำหรับสิ่งใดๆ ที่เราจัดให้เป็นอัญมณี สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องเป็นสิ่งที่ธรรมชาติ “สร้างขึ้นมา” และมีคุณสมบัติที่สำคัญ 3 ประการ ดังนี้ครับ

1. ต้องมีความสวยงาม (Beauty) 
ส่วนใหญ่พิจารณาจากสี (Color) การเล่นกับไฟ (Brilliancy) และความใสสะอาด (Clarity)

2. ต้องมีความคงทนถาวร (Durability) 
โดยพิจารณาจากความแข็ง (Hardness) ทนทานต่อการขูดขีด/ขัดถู ความเหนียว (Toughness) ทนทานต่อการแตกหัก และความมีเสถียรภาพ (Stability) ทนทานต่อการซีดจางของสี ความเสียหายจากความร้อน และสารเคมี

3. ต้องมีความหายาก (Rarity) 
อัญมณีบางชนิดไม่สวยแต่หายาก ทำให้มีราคาสูงได้ เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์ มักจะชื่นชอบสิ่งที่หายากมากกว่าสิ่งที่พบเจอได้ทั่วไป

เมื่อมีคุณสมบัติครบทั้ง 3 ประการแล้ว จึงจะเรียกสิ่งนั้นๆได้ว่า “อัญมณีธรรมชาติ” ดังนั้น อัญมณีธรรมชาติ ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน จึงแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆครับ

อัญมณี ประเภทแรก

อัญมณี ประเภทแร่

ประเภทแรก คือ แร่ (Mineral)

แร่ที่เรารู้จักบนโลกนี้ มีมากกว่า 4,000 ชนิด แต่ชนิดที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นอัญมณีได้ มีเพียง 150 กว่าชนิดเท่านั้น และในจำนวนนี้มีเพียง 20 กว่าชนิด ที่เป็นอัญมณีสำคัญ และรู้จักกันอย่างแพร่หลาย เราเรียกแร่ที่เป็นอัญมณีว่า “เพชร” กับ “พลอย”

อัญมณี ประเภทที่สอง

อัญมณี ประเภทหิน

ประเภทที่สอง คือ หิน (Stone)

หินบางชนิดมีความสวยงาม หินบางชนิดมีความหายาก หินจึงจัดเป็นอัญมณีได้เช่นกัน แล้วหินกับแร่ต่างกันยังไง อธิบายง่ายๆ คือ โดยส่วนใหญ่แล้ว หินมักมีส่วนประกอบของแร่ตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป มาประกอบกันเป็นหินหนึ่งชนิด และส่วนมาก หินจะมีความ “ทึบแสง” นั้นเองครับ

อัญมณี ประเภทหินอุกาบาต หรือ เท็กไทต์

หินที่กำลังจะพูดถึงต่อไปนี้ เป็นหินที่มีความ “หายาก” มากที่สุดในโลก

ต้องเกิดจาก การชนกันระหว่างอุกกาบาต และแผ่นเปลือกโลก จนหินบริเวณที่เกิดการปะทะเกิดความร้อน และหลอมละลาย จนกระเด็นกระจายขึ้นไปบนอากาศ แล้วเย็นตัวลงอย่างรวดเร็ว
ก่อนที่จะตกถึงพื้น ทำให้อุลกมณีมีรูปร่างต่างๆกันออกไป หินที่เย็นตัวลงแล้ว อาจมีส่วนผสมของแร่ที่อยู่ทั้งนอกโลก และบนโลกเข้าด้วยกัน เราเรียกหินชนิดนี้ว่า อุลกมณี (Tektite) โดยชนิดที่เป็นที่นิยม คือ ชนิดโมลดาไวต์ (Moldavite) ซึ่งจะมีสีเขียวใสในโทนต่าง

อัญมณี ประเภทหินทั่วไป

หินอ่อน หินแกรนิต และหินกรวดมน ก็จัดเป็น “อัญมณี” เช่นกันครับ
.
.
.
.
.
.
.
.
เชื่อจริงๆหรอครับ ฮ่าาาา หินอ่อน หินแกรนิต หินกรวดมน หรือหินอื่นๆ เราไม่จัดเป็นอัญมณีนะครับ เพราะอะไร? ใครทราบบ้างเอ่ย?
.
.
.
เพราะหินเหล่านี้มีมากมายบนโลก เลยทำให้ขาดคุณสมบัติความหายากนั้นเองครับ

อัญมณี ประเภทสุดท้าย

อัญมณี ประเภทอินทรีย์

มาถึงประเภท “สุดท้าย” แล้วครับ เป็นอัญมณีที่เราเรียกว่า อัญมณีอินทรีย์ (Organic Gems)

อัญมณีประเภทนี้ ความพิเศษอยู่ที่ต้องเกิดขึ้นมาจากสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพืช หรือสัตว์ ซึ่งอัญมณีในกลุ่มนี้มีอยู่ 4 ชนิดที่สำคัญที่สุด ได้แก่

1. อำพัน (Amber)
อำพันเป็นยางไม้ของต้นสนโบรานที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ใช้เวลาแข็งตัวนานมากถึง 2-10 ล้านปี บางชิ้นพบชิ้นส่วนแมลงอยู่ภายใน นั้นหมายความว่า แมลงตัวนั้นมีอายุนานถึง 2-10 ล้านปีกันเลยทีเดียวครับ

2. ไข่มุก (Pearl)
เกิดจากการที่สิ่งมีแปลกปลอม ซึ่งอาจจะเป็นหิน หรือวัตถุต่างๆ เข้าไปในตัวหอยมุก หอยมุกจึงสร้างสารที่เรียกว่า “นาเคอร์” ขึ้นมาหุ้มสิ่งแปลกปลอมนั้นไว้เป็นชั้นๆ เพื่อลดการระคายเคือง และชั้นนั้นก็ใหญ่ขึ้นตามกาลเวลา (6 เดือน ถึง 3 ปี) จนกระทั่งกลายเป็นไข่มุก ที่ถือว่าเป็นอัญมณีอินทรีย์ที่สำคัญที่สุดครับ

3. ปะการัง (Coral) 
ปะการัง เป็นสัตว์ทะเลเล็กๆ ที่สกัดน้ำทะเลมาสร้างเป็นกระดูกหุ้มตัวเองไว้ ทำให้กระดูกเชื่อมกันเป็นกิ่งก้านขึ้นมาคล้ายต้นไม้ จึงเป็นความสวยงาม ที่คู่กับความพิเศษอย่างลงตัว ชนิดที่เป็นที่นิยมคือ Red Coral หรือปะการังสีแดงครับ ปัจจุบันปะการังถูกนำมาใช้เป็นอัญมณีน้อยลง เนื่องจากมีการอนุรักษ์ เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ใต้ท้องทะเล ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากกว่านั้นเองครับ

4. งา (Ivory)
งา ไม่ได้หมายถึงเฉพาะ งาช้างเท่านั้น แต่หมายรวมถึงฟันของสิงโตทะเล และนอของนอร์วาฬด้วยครับ แต่ปัจจุบันมีการคุ้มครองสัตว์ เลยทำให้ถูกนำมาใช้เป็นอัญมณีน้อยลง ซึ่งผมไม่สนับสนุนให้ทำผิดกฏหมายกันนะครับ

บทสรุป

สำหรับท่านใด ที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ คงมีความเข้าใจเกี่ยวกับอัญมณีมากขึ้น อาจจะเป็นความรู้ใหม่ หรืออาจจะเคยทราบมาก่อนแล้วก็ไม่เป็นไร แต่ในบทความถัดไป จะยิ่งมีความน่าสนใจเกี่ยวกับโลกของอัญมณีเข้มข้นขึ้น ตามไปอ่านกันเลย

แล้วเรามาเจาะประเด็นกันครับ ว่า “เพชร กับ พลอย” ต่างกันยังไง?

หากท่านสนใจอยากจะติดตามเรื่องราวดีๆเหล่านี้ หรือเห็นว่า Content นี้มีประโยชน์ต่อท่านอื่นๆ ก็สามารถกดไลค์ กดแชร์ ได้เลยนะครับ ขอบคุณมากๆเลยครับผม

(แต่งและเรียบเรียงโดยคุณวิทวัส มะโนคำ นักอัญมณีวิทยา จบจาก มช. รุ่นที่ 50)

ผู้แต่งเรื่อง อัญมณี

สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถาม หรือขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Facebook : Tuaton Jewelry
Instagram : Tuaton Jewelry
Tel : 087-5452612

Related Posts
Leave a Reply

Your email address will not be published.Required fields are marked *